Uselessland No Image Need Help! Add

4D เพิ่มความคิดสร้างสรรค์

ประสบการณ์เพิ่มความคิดสร้างสรรค์กับ New York Hall of Science
Deconstruct | Discovery | Design | Display
บทความ โดย Creative Sloth
Designed on Canva, started from Cozy Theme Presentation

ไถหาไอเดียไปเรื่อย ๆ แต่ก็ยังไม่รู้จะเริ่มต้นสร้างโพรเจกต์จากไอเดียตัวเองล้วน ๆ อย่างไร จะลอกคนอื่นเลยก็ละอายใจ แต่ก็คิดเองไม่ออกและไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไรดี อยากคิดงานใหม่ ๆ เจ๋ง ๆ ไม่ซ้ำกับใครแต่มันยากจัง เป็นแบบนี้กันบ้างหรือเปล่า? ทำอย่างไรดี? การเพิ่มความความสามารถในการสร้างไอเดียใหม่นั้นมีหลายวิธีให้ลองฝึก วิธี 4D ที่เราจะมาเล่าวันนี้ก็เป็นหนึ่งในนั้น ช่วงแรก ๆ ไอเดียอาจจะไปซ้ำกับสิ่งที่ตัวเองเคยเห็นมาแล้วเหมือนกัน แต่ถ้าทำบ่อย ๆ ก็น่าจะทำให้สามารถสร้างไอเดียใหม่ได้ง่ายขึ้น

ครั้งหนึ่งเราเคยเข้าร่วมเวิร์กชอปเรื่องวิธีการสร้างไอเดียใหม่ ๆ ที่จัดโดยคุณ David Wells และคุณ Reid Bingham จาก New York Hall of Science โดยโจทย์ของเวิร์กชอป คือ “สร้างเครื่องดนตรีจากไอเดียใหม่ที่คิดเอง” เวิร์กชอปนั้นจัดในห้องกิจกรรมขนาดใหญ่ ซึ่งมีเครื่องดนตรีหลายชนิดให้สำรวจ และมีวัสดุและอุปกรณ์สำหรับการสร้างเครื่องดนตรี ผู้นำกิจกรรมให้เราเริ่มต้นการคิดด้วยขั้นตอนเหล่านี้

Deconstruct
รื้อ แคะ แกะ ถอด

ในขั้นตอนนี้ เราต้องเดินสำรวจดูเครื่องดนตรีต่าง ๆ แล้วเลือกเครื่องดนตรีที่เราสนใจมาหนึ่งชิ้น สำรวจและจดบันทึกเกี่ยวกับเครื่องดนตรีชิ้นนั้น และตอบคำถามสี่ข้อ

  1. เครื่องดนตรีชนิดนั้นคืออะไร?
  2. เรา: กลองยาว
  3. เครื่องดนตรีนี้ทำงานอย่างไร? ทำให้เกิดเสียงได้อย่างไร?
  4. เรา: เกิดเสียงได้จากการตีหรือเคาะ
  5. ทำมาจากวัสดุอะไรบ้าง?
  6. เรา: ไม้ หนัง ตะปู
  7. วัสดุแต่ละอย่างทำหน้าที่อะไร?
  8. เรา: ไม้ใช้ทำตัวกลอง หนังใช้ขึงบนตัวกลองสำหรับตี ตะปูใช้ยึดหนังกับตัวกลอง

Discovery
ค้นคว้า เรียนรู้ ค้นพบ

หลังจากเราดูเครื่องดนตรีรอบตัวและกลองยาว ที่ก็คล้ายกับเวลาเราไถดูไอเดียชาวโลก เราก็ต้องค้นคว้าเพิ่มเติมในรายละเอียด โดยเดินสำรวจไปทั่วห้องเพื่อศึกษาว่า วัสดุในขั้น Deconstruct รวมถึงวัสดุอื่นๆ เกิดเสียงได้อย่างไรบ้าง และตอบคำถามเหล่านี้

  1. วัสดุแต่ละชนิดนั้นพบเจอได้ที่ไหนอีกบ้าง?
  2. วัสดุเหล่านั้นใช้ทำอะไรได้อีกบ้าง?
  3. ต้องทำอย่างไรให้วัสดุนั้นเกิดเสียง?

เรา: ไม้

  • พบได้ตามสวน บ้าน และทางรถไฟ
  • ใช้ทำกีต้าร์ กรอบรูป เสาบ้าน โคมไฟ ของเล่นเด็ก ตะเกียบ หรือ ใช้ทำเครื่องเรือน เช่น โต๊ะ ตู้ เตียง
  • เกิดเสียงได้เมื่อถูกเคาะ
เรา: หนัง
  • ใช้ทำโซฟา กระเป๋า และเบาะรถ
  • เกิดเสียงได้โดยทำให้ตึงและดีดให้เกิดเสียง
เรา: ตะปู
  • ใช้ยึดวัสดุสองสิ่งเข้าด้วยกัน
  • เกิดเสียงได้จากการเอาตะปูเคาะกัน เขย่า และทำให้กระทบกัน
เรา: กระดาษ
  • ใช้วาดเขียน ประดับตกแต่ง
  • เกิดเสียงได้โดยการขยำ ฉีก และขีดเขียน
เรา: ลูกปัด
  • ใช้ทำเครื่องประดับ ตกแต่ง
  • เกิดเสียงได้จากการกระทบกัน เขย่า

ขั้นตอน Discovery นี่แหละที่จะช่วยให้เรามองเห็นสิ่งต่าง ๆ ในหลายแง่มุม ระหว่างการสำรวจ เราพบว่า วัสดุที่เราคิดว่าเรารู้จักดีอาจจะใช้ทำอะไรในแบบที่เราไม่เคยนึกถึงมาก่อนก็ได้

Design
ออกแบบ ลงมือสร้าง

ถึงขั้นตอนสำคัญแล้ว หลังจากที่เราได้สำรวจและศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับวัสดุต่าง ๆ เราก็ต้องออกแบบและสร้างเครื่องดนตรีกันแล้ว ใช้ความรู้และข้อมูลที่จดไว้ในขั้น Deconstruct และ Discovery มาออกแบบและประกอบร่างเครื่องดนตรีในแบบฉบับของเราเอง ใครจะแค่คิดออกแบบในจินตนาการก็ได้ บางคนก็ใช้วิธีสเก็ตช์ภาพก่อน บางคนก็เพียงจดอะไรขยุกขยิกในกระดาษ บางคนก็มีการแลกเปลี่ยนความเห็นกัน ทุกคนลงมือสร้าง จากความคิดไอเดีย กลายเป็นเครื่องดนตรีที่เล่นได้จริง

Display
แชร์ให้โลกเห็น

ถึงเวลาเปิดตัวเครื่องดนตรีชนิดใหม่ให้โลกรู้จัก ในขั้นตอนนี้ คุณ David และคุณ Reid ให้เราเล่าเกี่ยวกับเครื่องดนตรีที่สร้างเองให้เพื่อน ๆ ในห้องฟัง และให้เราบอกด้วยว่า ได้เรียนรู้อะไรบ้าง ชอบอะไรในผลงานไอเดียของตัวเอง และอยากจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงอะไร


สิ่งสำคัญที่เกือบจะลืมเล่า คือ ผู้นำกิจกรรมบอกกับพวกเราตลอดว่า “Make Mistakes” ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยได้ว่า “ทำผิดพลาดได้” เพราะฉะนั้นตลอดการทำกิจกรรมของเราจึงเต็มไปด้วยความสนุกสนาน ไม่กลัวที่จะทำผิดพลาดใด ๆ เวิร์กชอปวันนั้นจบลงด้วยเสียงเพลงบรรเลงจากเครื่องดนตรีที่พวกเราเพิ่งสร้างเอง และแม้แต่เพลง พวกเราก็ยัง Make Mistakes :-)

More Inspiring Articles!
All Articles
Sponsored by Microsoft For Startup